ความรู้เรื่องสีพ่นรถยนต์

ประเภทของสีพ่นรถยนต์

1. สี OEM

หรือเรียกอีกชื่อว่าสีอบ (Bake Paint) คือสีที่ใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์ สีชนิดนี้มีเพียงองค์ประกอบเดียว การทำสีจะต้องผ่านการอบด้วยอุณหภูมิสูงประมาณ 120-170 องศาเซลเซียส เมื่อสีแห้งตัวแล้วชั้นสีจะมีความทนทานสูง มีการยึดเกาะของสีที่ยอดเยี่ยม ทนแดด ทนฝน ทนร้อน ทนหนาว ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำมันดีเซลและเบนซิล สี OEM จึงเป็นสีที่ทนทานที่สุด

2. สี 1K (สีแห้งเร็ว)

เป็นสีที่มีองค์ประกอบเดียว คือมีแต่ตัวเนื้อสีเพียงอย่างเดียว ในการใช้งานอาจนำมาผสมกับตัวทำละลาย (Solvent) เช่นทินเนอร์เพื่อเจือจาง และให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น แต่ตัวทำละลายที่นำมาผสมนี้ จะไม่นับเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากตัวทำละลายจะระเหยตัวออกไปจนหมดหลังการใช้งาน เหลือเพียงฟิล์มสีที่แห้งตัวแล้วเท่านั้น เมื่อก่อนสี 1K เป็นสีที่นิยมใช้กันมาก เพราะมีต้นทุนที่ต่ำ แห้งเร็ว แต่มีข้อเสียคือความเงางามอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ซีด ไม่ทนต่อตัวทำละลาย หากโดนน้ำมัน ทินเนอร์โดยตรง สีอาจจะหลุดร่อนได้ ปัจจุบันจึงไม่นิยมนำมาพ่นรถยนต์ แต่อาจจะยังใช้ในการพ่นชิ้นงานทั่วไป เช่น เหล็ก

3. สี 2K (สีแห้งช้า)

เป็นสีที่มี 2 องค์ประกอบ คือตัวสีและตัวเร่งปฏิกิริยา (Hardener) ก่อนใช้งานต้องนำทั้ง 2 องค์ประกอบมาผสมกันตามอัตราส่วน เพื่อให้เกิดการทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเรซิ่นในเนื้อสี ซึ่งจะทำให้สีเกิดการแห้งตัว ข้อดีของสี 2K คือชั้นฟิล์มสีสูงมีความแข็งแรง เนื้อสีมาก ยึดเกาะดีเยี่ยม ความทนทานต่อตัวทำละลายเช่นทินเนอร์ น้ำมัน และสารเคมีต่าง ๆ ได้ดีมาก ทนแดดทนฝนได้ดี ไม่ซีดจางง่าย โดยรวมแล้วมีความคงทนสูงและคงสภาพเดิมได้นานมาก คุณสมบัติใกล้เคียงกับสี OEM ในปัจจุบันนี้อู่รถยนต์หรือศูนย์ซ่อมสีชั้นนำจะหันมาใช้สีระบบ 2K
สี 2K ที่ใช้ในงานสีรถยนต์ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  • แอลคิด (Alkyd)
  • อะคริลิค (Acrylic)
  • โพลียูรีเทน (Polyurethane)

ส่วนประกอบหลักของระบบสี 2K

สี 2K มีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ 2 ส่วนหลักคือ

    1. เนื้อสี สามารถแบ่งย่อยเป็น 4 ส่วนด้วยกันคือ
      • เนื้อสี กาวหรือเรซิ่น (Resin) ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะของส่วนประกอบอื่นๆ ของสี เมื่อสีแห้งแล้ว เรซิ่นจะเกาะตัวเข้าด้วยกันเกิดเป็นเนื้อฟิล์มขึ้น ซึ่งเรซิ่นที่ใช้ในสีประเภทนี้คือ โพลียูรีเทน ที่มีคุณสมบัติเด่นหลายอย่าง เช่น ความเงา ความแข็ง การยึดเกาะ การทนต่อสารเคมี ทนต่อความชื้น เป็นต้น
      • ผงสี (Pigment) เป็นสารที่ทำหน้าที่ในการปกปิดพื้นผิว  และทำให้เกิดสีสันต่างๆ เช่น สีดำ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน หรืออาจใช้กันสนิมได้อีกด้วย
      • ตัวทำละลาย (Solvent) ทำหน้าที่ในการช่วยให้ผงสีและเรซิ่นกระจายตัวเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และยังเจือจางหรือปรับความข้นเหลวของสีให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานด้วย
      • สารปรับแต่ง (Additive) เป็นส่วนประกอบที่หน้าที่เพิ่มคุณสมบัติหรือลดข้อด้อยบางอย่างของสี เช่น ช่วยให้ฟิล์มเรียบขึ้น ช่วยป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ ช่วยป้องกันการแยกตัวของผงสีและเรซิ่น ป้องกันการตกตะกอน เป็นต้น
    2. ตัวเร่งที่ทำให้สีแข็งตัว (Hardener) ส่วนนี้จะแยกออกจากส่วนแรกโดยสิ้นเชิง เมื่อจะนำสีไปใช้งานจึงค่อยผสมส่วนนี้ลงไป และน้ำยานี้ก็เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ เนื่องจากถ้าไม่ใส่น้ำยานี้เข้าไปในสีและนำสีไปใช้ สีจะไม่แห้งแข็งเป็นฟิล์ม ซึ่งน้ำยานี้ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของไอโซไซยาเนท (Isocyanate)

สรุปเหตุผลที่ควรใช้สี 2K แทนสี 1K

  1. Durability – ความทนทานไม่ต่ำกว่า 5 ปี
  2. Weather resistance – ความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนแดด ทนฝนได้ดี
  3. Chemical resistance – ทนทานต่อสารเคมีต่าง ๆ ได้ดี เช่น ทินเนอร์ น้ำมันเบนซิล ดีเซล น้ำมันเบรก
  4. Color retention – สามารถคงสภาพสีเดิม ไม่ซีดจางจากเดิมง่าย
  5. Gloss – มีความเงางามสูง
  6. คุณสมบัติเหมือนหรือใกล้เคียงกับสี O.E.M.

 

Ref. http://www.smartgroup.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.